เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
นายกิตติศักดิ์ พงไทยสงค์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนบ้านดงแดง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2
ชื่อเรื่อง การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นายกิตติศักดิ์ พงไทยสงค์ ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้มีคุณภาพ 2) ศึกษาประสิทธิภาพของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน ของผู้เรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม 4) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น 5) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น และ 6) ศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ของผู้เรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนบ้านดงแดง และโรงเรียนบ้านด่าน กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ 7 ด่านหนองแค สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับฉลากโรงเรียน จับฉลากได้โรงเรียนบ้าน ดงแดง จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 15 คน เป็นกลุ่มทดลอง จับฉลากได้โรงเรียนบ้านด่าน จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 23 คน แล้วทำการสุ่มโดยใช้ตารางเลขสุ่ม (Table of random number) ได้นักเรียนจำนวน 15 คน เป็นกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ 1) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น 2) แบบประเมินคุณภาพหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติ t-test (Independent)
ผลการวิจัยพบว่า
- หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพในระดับเหมาะสมมากที่สุด ( = 4.67, S.D. = 0.45)
- ประสิทธิภาพของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.40/87.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 85/85
- ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- ดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีค่าเท่ากับ 0.7206 คิดเป็นร้อยละ 72.06
- ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.71 , S.D. = 0.41)
- หลังจาก 7 วัน และ 30 วัน ของการเรียนรู้ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้น นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
คำสำคัญ การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม